วันที่ 12 ธันวาคม 2567 ณ โรงแรมกะตะธานี จ.ภูเก็ต สถานบันพลังจิตตานุภาพ หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินุธโร จัดโครงการองค์กรแห่งความสุข หลักสูตรวิทิสาสมาธิ โดยมี ดร.ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ เป็นประธานเปิดการอบรม กล่าวต้อนรับโดย คุณอุไรรัตน์ อติเศรษฐ์ รองประธานกรรมการอาวุโส โรงแรมในเครือกะตะธานี กล่าวต้อนรับ โดยมีผู้บริหาร เจ้าของกิจการ และผู้ที่สนใจในการทำสมาธิทั้งที่เคยทำสมาธิมาก่อนและไม่เคยทำสมาธิมาก่อน เข้าร่วม การฝึกอบรมหลักสูตรวิทิสาสมาธิ
การอบรมในครั้งนี้ มีทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ โดยในส่วนของภาคทฤษฎี ได้มีการบรรยายให้ความรู้ ลักษณะของสมาธิและประโยชน์ของสมาธิ หลักการทำสมาธิ และ การทำวิทิสาสมาธิ โดยอาจารย์วรรณพงศ์ ตันประภา อดีตผู้ดูแลสถาบันพลังจิตตานุภาพ สาขาที่ 15 ภูเก็ต อาจารย์สัญญา ศรีเมือง ผู้ดูแลสถาบันพลังจิตตานุภาพ สาขาที่ 15 ถลาง ภูเก็ต เป็นผู้บรรยายให้ความรู้ ภาคปฏิบัติ ปฏิบัติด้วยตนเองทุกวัน โดยการนั่งสมาธิ บริกรรมพุทโธในใจ ครั้งละ 5 นาที เช้า 5 นาที กลางวัน 5 นาที เย็น 5 นาที ตามระยะเวลาหลักสูตร พร้อมลงบันทึก มีการประชุมติดตามผลการปฏิบัติวิทิสาสมาธิแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทุกๆ 2 สัปดาห์
#สำหรับหลักสูตรวิทิสาสมาธิ เป็นหลักสูตรการนั่งสมาธิ ที่สมเด็จพระญาณวชิโรดม (วิริยังค์ สิรินุธโร) ได้สร้างหลักสูตรขึ้นด้วยเห็นว่า สมาธิมีความสำคัญในการผลิตพลังจิตให้แก่ผู้ปฏิบัติ เพื่อจะได้ใช้พลังจิตไปทำประโยชน์ให้แก่ตนเองและคนอื่นๆ รวมทั้งแก่สังคมประเทศชาติ และแก่โลกในที่สุด แต่เนื่องจากในชีวิตประจำวันคนส่วนมาก มีภารกิจต่างๆ มากมาย #ดังนั้นสมเด็จพระญาณวชิโรดม จึงได้คิดวิธีทำสมาธิที่คนทั่วไปสามารถทำได้แบบง่ายๆ และตั้งชื่อว่า “วิทิสาสมาธิ” ซึ่งมีความหมายว่า สมาธิที่สามารถทำได้ในทุกที่และทุกโอกาส โดยฝึกปฏิบัติสมาธิตามหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องสม่ำเสมอเป็นการต่อเนื่อง โดยการทำสมาธิใช้เวลาน้อยแต่ได้ผลมาก
#เพื่อให้บุคคลทำสมาธิอย่างสม่ำเสมอ เป็นสะสมพลังจิตให้กับผู้ปฏิบัติ เพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพและให้ได้สมาธิตามมาตรฐานขั้นต่ำที่ทุกคนควรจะมีไว้
#โดยหลักสูตรวิทิสาสมาธิเป็นหลักสูตรการอบรมตั้งแต่ 1 เดือน 2 เดือน และ 3 เดือน การทำวิทิสาสมาธินั่งครั้งละ 5 นาที วันละ 3 ครั้ง (เช้า เที่ยง เย็น) เท่ากับวันละ 15 นาที เมื่อรวม 30 วัน จะได้สมาธิ450 นาที ซึ่งสมเด็จพระญาณวชิโรดม กล่าวไว้ว่า การทำจิตให้สงบเป็นสมาธิได้ไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อเดือนนั้น จิตตะมีพลังเป็นผู้มีพลังจิตเพียงพอแก่การควบคุมจิตใจ มิให้เกิดความหวั่นไหว เกิดความเครียด ความวุ่นวาย ในทางตรงกันข้ามจะเป็นผู้เบิกบาน มีสติ มีปัญญา มีหลักประพฤติที่ดีงาม อันส่งผลให้เกิดความสงบสุขแต่ตนเองและสังคม